PRESENT
THAI COTTON & SILK
ผ้าไทยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า
อย่างผ้าฝ้ายทอมือที่มีลวดลายสมมาตร ทออย่าง
ปราณีตจากชาวบ้านที่ร่วมกันทอจากกี่กระตุก
แบบโบราณ ลวดลายต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดจากการ
ประยุกต์ลายพื้นถิ่น ของชาวบ้านท้องถิ่นโดยส่งต่อวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น
.
OUR PRODUCT
THAI SARONG
ผ้าทอกับวิถีชีวิตของคนไทย
ชาวไทยมีการทอผ้ามาช้านาน เป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความละเอียดและความใส่ใจในขั้นตอนการทำ โดยชาวไทยสมัยก่อนทอผ้าใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำวัน และใช้ในพีธีกรรมต่างๆ สั่งสมประสบการณ์ และภูมิปัญญาในการทอผ้าถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งวิถีชีวิตชาวไทย
Hand-woven cotton
of Ratchaburi
Hand-woven cotton
of Yasothon
TRADITIONAL
THAI SARONG.
เทคนิคการสร้างลวดลาย
หลักของการทอผ้าก็คือ การทำให้เส้นใยสองกลุ่มขัดกัน โดยทั้งสองตั้งฉากกัน เส้นใยกลุ่มหนึ่งเรียกว่าเส้นยืน(ทางยืน) และอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าเส้นพุ่ง (ทางตำ/ต่ำ)
1.มัดหมี่
คำว่า”หมี่”ในภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง ไหม เช่น “ซิ่นหมี่” หมายถึง
“ซิ่นไหม” สำหรับคำว่ามัดหมี่หมายถึง เทคนิคการทำให้ลวดลายบนผืนผ้าด้วยการมัดเส้นใย ด้วยเชือกให้เป็นลวดลายตามที่ออกแบบไว้ก่อนนำไปย้อม แล้วจึงแก้เชือกที่มัดออก จากนั้นจึงนำเส้นใยไปทอ ซึ่งเป็นวิธีการทำให้สีติดทนทานกว่าย้อมบนผืน
2.ขิด
คำว่า “ขิด” เป็นภาษาถิ่นอีสาน ตรงกับคำว่า “ขวิด” ในภาษาถิ่นเหนือ หมายถึงอาการซ้อนขึ้น งัดขึ้น เทคนิคการทอผ้าให้เกิดลวดลายโดยการเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษ ด้วยวิธีการใช้ไม้แป้นขิดสอด เพื่อเปิดช่องยืน หรือเพิ่มเขาพิเศษนอกเหนือจากเขาที่ใช้ทอลายขัดปกติ โดยมักจะเก็บเขาในแนวตั้ง ทางด้านบนและล่างของชุดเส้นยืน
การทอจะทำให้เกิดลวดลายตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า ช่างทอชาวอุบลราชธานี ตลอดจนชาวอีสาน
ทั่วไปเรียกวิธีนี้ว่า “ขิด” แต่กลุ่มไทลื้อในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และชาวไทลื้อในเขตจังหวัดน่าน
เรียกลวดลายที่เกิดจากการขิดว่า “มุก” หรือ “มุกเก็บดอก”ซึ่งมิได้หมายถึงเทคนิค”มุก” อย่างที่รู้จักกันทั่วๆไป
3.จก
คำว่า “จก”เป็นภาษาถิ่นอีสานตรงกับคำว่า ล้วง หรือควักในภาษาไทยมาตรฐาน เป็นเทคนิคการทำ ลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า คล้ายกับการปักผ้าขณะที่ทอ ทำโดยใช้ไม้แหลม ขนเม่น หรือนิ้วมือยกหรือจกเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งพิเศษสีต่าง ๆ
เข้าไปในแถวเดียวกันขณะที่ทอ โดยเส้นพุ่งพิเศษที่เสริมเพื่อสร้างลวดลายไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักของ ผ้า หากเส้นพุ่งพิเศษที่เสริมเพื่อสร้างลวดลายขาด โครงสร้างผ้าหลักยังคงอยู่ การจกแตกต่างจากการขิดตรงที่สามารถสอดสีภายในแถวแต่ละแถวได้อย่างอิสระตามต้องการ ขณะที่การขิดนั้นนั้นใช้เส้นพุ่งหนึ่งเส้นตลอด หน้าผ้า ทำให้สีของลวดลายในแถวเดียวกันจะเป็นสีเดียวกัน จึงทำให้ลายจกมีสีสันสวยงามแพรวพราวมากกว่า แต่ก็ใช้เวลาการทอนานมากกว่า การทอผ้าจกจึงมีความยุ่งยากและใช้ความอดทนในการทอมาก สำหรับช่างทอ เมืองอุบลราชธานีบางครั้งเรียกเทคนิคนี้ว่า “เกาะ” เช่นเดียวกับชาวไทแดงที่เรียกลายจกว่าลายเกาะ ในความหมายเดียวกับการจกหรือล้วงเส้นยืนขึ้น ซึ่งเป็นคนละวิธีกับการ “เกาะ” หรือ “ล้วง” (Tapestry Weaving) ของขาวไทลื้อ ที่เป็นการเอาเส้นพุ่งหลายสีพุ่งย้อนกลับไปมาเป็นช่วง ๆ ด้วยเทคนิคขัดสานธรรมดา แต่มีการเกาะเกี่ยวและผูกเป็นห่วงรอบด้ายเส้นยืนเพื่อยึดเส้นพุ่งแต่ละช่วงเอาไว้
4.ยกดอก
เทคนิคการสร้างลวดลายบนผืนผ้าจากการเพิ่มเขาพิเศษสำหรับยกตัวลายบริเวณด้านบนของเส้นยืน เรียกว่า “เขาลอย” หรือ “เขาโตงเตง” เวลาทอจะยกสลับกับเขาลายขัดปกติ ในลักษณะที่ทำให้เกิดเป็นรูปและพื้นแบบ Positive และ Negative เส้นพุ่งทำหน้าที่เป็นทั้งโครงสร้างหลักและสร้างลวดลายของผ้าตลอดเส้น การยกดอกทำให้ได้ลวดลายเหมือนกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการขิด แต่ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคขิดหรือจก เส้นพุ่งพิเศษที่เขาเข้าไปสามารถดึงออกได้ โดยไม่ให้เนื้อผ้าเสียหาย แต่ในกรณีของผ้ายกดอกหากเส้นพุ่งขาดจะทำให้ทั้งเนื้อผ้าและลวดลายเสียไปด้วย ดังนั้น “ผ้ายกดอก” ในที่นี้จึงแตกต่างจาก “ผ้ายก”ซึ่งใช้เทคนิคขิดอย่างที่กล่าวมา
บรรณานุกรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย,อาจารย์ ดร.คำล่า มุสิกา,นางสาวเชาวนี เหล็กกล้า และนายมีชัย แต้สุจริยา. ผ้าทอ เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย. พิมพ์ครั้งที่ ๑.กรุงเทพฯ. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี กรมศิลปากร.๒๕๖๑
ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล. มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ. พิมพ์ครั้งที่ ๑. เชียงใหม่. ภาควิชาภาษาไทย คณมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่. ๒๕๕๑